วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

หมวด วิทยาศาสตร์


หมวดวิทยาศาสตร์  ม.6/4
เรื่องการอนุรักษ์ และป้องกันธรรมชาติ
การอนุรักษ์
                การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างฉลาด โดยใช้ให้น้อย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการใช้ให้ยาวนาน และก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด รวมทั้งต้องมีการกระจายการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม ในสภาพปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความเสื่อมโทรมมากขึ้น ดังนั้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงมีความหมายรวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้วย              การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถกระทำได้หลายวิธี ทั้งทางตรงและทางอ้อม
1. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยทางตรง ซึ่งปฏิบัติได้ในระดับบุคคล องค์กร และระดับประเทศ ที่สำคัญ คือ
            1) การใช้อย่างประหยัด คือ การใช้เท่าที่มีความจำเป็น เพื่อให้มีทรัพยากรไว้ใช้ได้นานและเกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากที่สุด
            2) การนำกลับมาใช้ซ้ำอีก สิ่งของบางอย่างเมื่อมีการใช้แล้วครั้งหนึ่งสามารถที่จะนำมาใช้ซ้ำได้อีก เช่น ถุงพลาสติก กระดาษ เป็นต้น หรือสามารถที่จะนำมาใช้ได้ใหม่โดยผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น การนำกระดาษที่ใช้แล้วไปผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อทำเป็นกระดาษแข็ง เป็นต้น ซึ่งเป็นการลดปริมาณการใช้ทรัพยากรและการทำลายสิ่งแวดล้อมได้
            3) การบูรณซ่อมแซม สิ่งของบางอย่างเมื่อใช้เป็นเวลานานอาจเกิดการชำรุดได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีการบูรณะซ่อมแซม ทำให้สามารถยืดอายุการใช้งานต่อไปได้อีก
            4) การบำบัดและการฟื้นฟู เป็นวิธีการที่จะช่วยลดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรด้วยการบำบัดก่อน เช่น การบำบัดน้ำเสียจากบ้านเรือนหรือโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ก่อนที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ส่วนการฟื้นฟูเป็นการรื้อฟื้นธรรมชาติให้กลับสู่สภาพเดิม เช่น การปลูกป่าชายเลน เพื่อฟื้นฟูความ      สมดุลของป่าชายเลนให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น
            5) การใช้สิ่งอื่นทดแทน เป็นวิธีการที่จะช่วยให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติน้อยลงและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก การใช้ใบตองแทนโฟม การใช้พลังงานแสงแดดแทนแร่เชื้อเพลิง การใช้ปุ๋ยชีวภาพแทนปุ๋ยเคมี เป็นต้น
            6) การเฝ้าระวังดูแลและป้องกัน เป็นวิธีการที่จะไม่ให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย เช่น การเฝ้าระวังการทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูลลงแม่น้ำ คูคลอง การจัดทำแนวป้องกันไฟป่า เป็นต้น

2.  การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยทางอ้อม สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
            1) การพัฒนาคุณภาพประชาชน โดนสนับสนุนการศึกษาด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องตามหลักวิชา ซึ่งสามารถทำได้ทุกระดับอายุ ทั้งในระบบโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆ และนอกระบบโรงเรียนผ่านสื่อสารมวลชนต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการอนุรักษ์ เกิดความรักความหวงแหน และให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง
            2) การใช้มาตรการทางสังคมและกฎหมาย การจัดตั้งกลุ่ม ชุมชน ชมรม สมาคม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ตลอดจนการให้ความร่วมมือทั้งทางด้านพลังกาย พลังใจ พลังความคิด ด้วยจิตสำนึกในความมีคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่มีต่อตัวเรา เช่น กลุ่มชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของนักเรียน นักศึกษา ในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร มูลนิธิโลกสีเขียว เป็นต้น
            3) ส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ช่วยกันดูแลรักษาให้คงสภาพเดิม ไม่ให้เกิดความเสื่อมโทรม เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตในท้องถิ่นของตน การประสานงานเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับประชาชน ให้มีบทบาทหน้าที่ในการปกป้อง คุ้มครอง ฟื้นฟูการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
            4) ส่งเสริมการศึกษาวิจัย ค้นหาวิธีการและพัฒนาเทคโนโลยี มาใช้ในการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีสารสนเทศมาจัดการวางแผนพัฒนา การพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ให้มีการประหยัดพลังงานมากขึ้น การค้นคว้าวิจัยวิธีการจัดการ การปรับปรุง พัฒนาสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน เป็นต้น
            5) การกำหนดนโยบายและวางแนวทางของรัฐบาล ในการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะสันและระยะยาว เพื่อเป็นหลักการให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องยึดถือและนำไปปฏิบัติ รวมทั้งการเผยแพร่ข่าวสารด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งทางตรงและทางอ้อม

วิธีการรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
วิธีการอนุรักษ์ มีขั้นตอนดังนี้

    1) กำจัดการใช้ที่ไม่จำเป็นหรือมีแนวโน้มที่จะสูญเปล่า
    2) ดูแลรักษาทรัพยากรที่หายากหรือมีน้อย ให้อยู่ในสภาวะที่มากพอเสียก่อนจึงจะให้ใช้ทรัพยากรนั้น ๆ  ได้
    3) ผู้ใช้ทรัพยากรทั้งหลายควรตระหนักอยู่เสมอว่า ทรัพยากรแต่ละอย่างจะมีความสัมพันธ์ต่อกันยากที่จะแยกจากกันได้
    4) การเพิ่มผลผลิตของพื้นที่แต่ละแห่งควรจะต้องทำ
    5) ต้องพยายามอำนวยให้สภาวะต่าง ๆ ดีขึ้น
ทั้ง 5 ประการนี้เป็นสิ่งที่ควรจะได้กระทำ เพื่อให้การอนุรักษ์ได้ผลตามเจตนารมย์ โดยไม่ลืมว่าวัตถุประสงค์สุดยอดของการอนุรักษ์คือ ต้องทำให้โลกนี้ดี (Rich) ให้ผลผลิตเหมือนเมื่อพบครั้งแรก (Productive) พยายามอย่าให้โลกทรุดโทรมหรือขาดแคลนทรัพยากร ตามคำกล่าวสนับสนุนที่ว่า

                   
ชาติที่จะเจริญรุ่งเรืองนั้นต้องรู้ว่าจะผลิตและสร้างทรัพยากรอย่างไรโดย ปราศจากการทำลาย การอนุรักษ์จึงเป็นหัวใจของการพัฒนา
    การที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติให้ถูกต้องตาม หลักการอนุรักษ์นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา อีกทั้งต้องมีความสนใจต่อการดำเนินการต่าง ๆ ทั้งในด้านการปฏิบัติและการจัดการทรัพยากร รวมทั้งการขวนขวายหาความรู้ใหม่เพิ่มเติม เพื่อการคงไว้ซึ่งทรัพยากร ทั้งนี้การมีความรู้เรื่องการอนุรักษ์จะช่วยให้รู้จักการใช้ทรัพยากร ธรรมชาติ โดยหลีกเลี่ยงการสูญเปล่า (Waste) และการทำลาย การสูญเปล่าตามหลักอนุรักษ์วิทยานั้น เกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ ขั้นผลิตกรรม (Production) และขั้นบริโภค (Consumption) แยกได้เป็น

1) การสูญเปล่าแบบสมบูรณ์ (Absolute Waste) ได้แก่การสูญเปล่าที่เกิดขึ้นแล้วไม่สามารถกลับคืน เช่น การพังทลายของดินจากทั้งลมและน้ำ
2) การสูญเปล่าแบบเพิ่มพูน (Waste Plus) เป็นขบวนการสูญเปล่าที่รุนแรงคือนอกจากสูญเสียทรัพยากรต่าง ๆ แบบสมบูรณ์แล้ว ยังมีผลทำให้สิ่งหรือขบวนการอื่น ๆ
    สูญเปล่าไปด้วย เช่น การเกิดไฟฟ้า ทำลายต้นไม้ในป่าและยังสูญเสียปริมาณสัตว์ป่า สูญเสียดินและอื่น ๆ
3) การสูญเปล่าแบบสัมพันธ์ (Relative Waste) ได้แก่ การสูญเสียที่เกิดจาก การแสวงหาสิ่งหนึ่ง แต่ทำให้เกิดผลเสียอีกอย่างหนึ่ง เช่น การทำเหมืองแร่ อาจทำให้เกิดการทำลายพืชพรรณธรรมชาติ
    ทำให้น้ำในลำธารขุ่นการเก็บของป่าอาจต้องทำลายหรือตัดฟันต้นไม้เพื่อให้ได้ มาซึ่งผลผลิตจากป่า อาทิ น้ำผึ้ง ยาสมุนไพร เป็นต้น
4) การสูญเปล่าแบบตั้งใจ (Organized Waste) ได้แก่การทำให้เกิดการสูญเปล่าโดยตั้งใจจะจัดการกับบางอย่าง เพื่อรักษาราคาหรือค่าทางเศรษฐกิจของทรัพยากรธรรมชาติ หรืออุตสาหกรรมไว้ให้ดีที่สุด
    เช่น การที่ประเทศบราซิลยอมทิ้งกาแฟลงในทะเลเพราะผลิตมากเกินไป จำเป็นต้องรักษาราคากาแฟให้เป็นไปตามต้องการ การเผาใบยาสูบทิ้งเพราะผลิตมากเกินไป การนำแอ๊ปเปิ้ลเทบนถนนให้รถบรรทุก
    บดเพื่อทำลาย เนื่องจากมีผลผลิตล้นตลาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น